02-301-2223 sale@pp.premier.co.th
PREMIER PRODUCTS PUBLIC COMPANY LIMITED

4 วิเคราะห์การดำเนินงานและฐานะการเงิน

                4.1วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานสำหรับงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ของบริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสำหรับงวดจำนวน 132.83 ล้านบาท  เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนขาดทุนมากขึ้น 102.46 ล้านบาท จากผลขาดทุนจากการด้อยค่าของแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 135.18 ล้านบาท  บริษัทย่อยได้ดำเนินการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์บางส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยหากไม่รวมรายการดังกล่าวบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน 3.83 ล้านบาท รายการเปลี่ยนแปลงในงวดสรุปได้ดังนี้

                รายได้จากการขายและบริการของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 1,013.32 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 54.64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.7

                สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 เริ่มฟื้นตัว การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ผ่อนคลายลง ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ ประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อ โครงการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยชะลอตัวก็เริ่มดำเนินการต่อ รวมถึงโครงการที่บริษัทรับดำเนินการแล้ว ก็จะดำเนินการส่งมอบให้ลูกค้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยน ยังคงมีความผันผวนสูงมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า  เช่น เรซิ่น ใยแก้ว เหล็ก แผงโซล่าร์และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อควบคุมต้นทุนสินค้าให้ได้มากที่สุด

                รายได้จากการขายและบริการของบริษัท มีจำนวน 872.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 93.44  ล้านบาท โดยมาจากการขายผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำมียอดขายจำนวน 501.97 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 7.24 ล้านบาท  ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างมียอดขายจำนวน 206.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 93.42 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โซล่าร์รูฟมียอดขายจำนวน 163.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.26 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 209.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 47.30 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 24.1 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2  จากการควบคุมการให้ส่วนลดการค้าและควบคุมต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

                บริษัท อินฟินิท กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1.70 ล้านบาท   อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้นจากการปรับค่า Ft แต่หน่วยผลิตไฟฟ้าที่บริษัทย่อยผลิตได้ลดลงจากการเสื่อมของอุปกรณ์และการเปลี่ยนของค่าแดด  ต้นทุนขายมีจำนวน 83.23 ล้านบาท ลดลง 0.72 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาลดลง  กำไรขั้นต้นมีจำนวน 102.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.42 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 55.3 และในปีที่ผ่านมาบริษัทย่อยได้ดำเนินการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์บางส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและหยุดใช้งานแผงที่ถูกถอดออก ทำให้เกิดผลขาดทุนจากการด้อยค่าของแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 135.18 ล้านบาท

                ต้นทุนในการจัดจำหน่ายของบริษัทมีจำนวน 154.90 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.71 ล้านบาท  ส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายของฝ่ายขายและการตลาดลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนต้นทุนในการจัดจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 17.8 จากยอดขาย ลดลงจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 20.2 จากยอดขาย

                ค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 149.56 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.05 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายบุคลากร เงินบริจาค และค่าเบี้ยประกันภัย

                รายได้อื่นของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 7.21 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 3.16 ล้านบาท จากการขายคาร์บอนเครดิต ขายเศษวัสดุ

                ต้นทุนทางการเงินของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน 4.26 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 0.93 ล้านบาท จากจำนวนเงินกู้ที่ลดลง

                ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 ( TFRS9) มีจำนวน 6.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 4.36 ล้านบาท จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลูกค้าผลิตภัณฑ์ GRC ที่โครงการรับเหมาก่อสร้างของลูกค้าหยุดชะงักและกิจการลูกค้าขาดสภาพคล่อง

                ในปี 2565 มีรายได้ภาษีเงินได้จำนวน 1.73 ล้านบาท เป็นรายได้ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีของบริษัทและบริษัทย่อย  ผลดำเนินงานสำหรับปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิจำนวน 132.83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนมีขาดทุนมากขึ้น 102.46 ล้านบาท สาเหตุหลักเป็นผลจากขาดทุนจากการด้อยค่าของแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทย่อยจำนวน 135.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลขาดทุนที่ไม่กระทบกระแสเงินสดของบริษัทย่อย

                4.2 ปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่อาจมีผลต่อฐานะการเงิน หรือการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต (Forward Looking)

                ในปี 2566 ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นจากปีก่อน โครงการลงทุนที่เคยชะลอตัวเริ่ม  ดำเนินการต่อได้ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจก่อสร้าง โครงการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นบริษัทจะมุ่งเน้นเป้าหมายการส่งมอบงานโครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งเลื่อนการส่งมอบจากปีก่อนให้ครบถ้วน โดยเน้นด้านการตลาดและการขายผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำ การตลาดที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย การบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มลูกค้าอาคารขนาดใหญ่ที่มีความต้องการบูรณะปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เดิมและนำน้ำมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้น เช่นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีอายุมาก เป็นต้น และขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ รวมถึงโอกาสในการขยายระบบสำรองน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น

                ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างโครงการต่างๆที่ยังคงเน้นเป้าหมายกลุ่มลูกค้าในโครงการลงทุนที่เริ่มฟื้นตัวจากการชะลอโครงการในช่วงปีก่อน เช่น โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั่วประเทศ โครงการอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตเสริมใยแก้ว (Glass Reinforced Concrete) รวมถึงผนังป้องกันเสียงรบกวนและผลิตภัณฑ์ทดแทนคอนกรีต

                ผลิตภัณฑ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ยังคงมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตพลังงานทางเลือกเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน การส่งเสริมการลงทุน และอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงการให้ภาคเอกชนมีความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รายได้จากการขายและบริการ (หน่วย : ล้านบาท)
2565
2564
เพิ่ม(ลด)
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำ
501.97
509.22
(7.25) (1.42%)
2.กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม*
370.14
269.45
100.69 37.37%
-ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง
206.64
113.21
93.43 82.53%
-ผลิตภัณฑ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
163.50
156.24
7.26 4.65%
2.กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด**
186.03
184.33
1.70 0.92%
หัก รายการระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย
(44.32)
(4.32)
(40.50) 937.50%
รวมรายได้จากการขายและบริการ
1,013.32
958.68
54.64 5.70%

คำอธิบายรายการในงบแสดงฐานะการเงินที่สำคัญ

ฐานะการเงิน  ณ วันที่  31 ธันวาคม 2565

              ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 1,384.96 ล้านบาทลดลงจากสิ้นปีก่อน จำนวน 112.03 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 361.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน จำนวน 47.32 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 1,023.11 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี จำนวน 159.37 ล้านบาท โดยมีรายการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่สำคัญดังนี้

สินทรัพย์

              (1) ณ 31 ธันวาคม 2565 สินทรัพย์หมุนเวียนมีจำนวน 361.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 18 ล้านบาท เนื่องจาก

              -ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น มีจำนวน 210.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.89 ล้านบาท จากรายได้การขายและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยปี 2565 และปี 2564 เท่ากับ06 และ 79.48 วัน ตามลำดับ

              – สินค้าคงเหลือมีจำนวน 117.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 14.77 ล้านบาท เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 18.02 ล้านบาท  สินค้าระหว่างทางเพิ่มขึ้น 1.44 ล้านบาท และมีการตั้งสำรองสินค้าตามเกณฑ์อายุคงค้างโดยตั้งสำรองจากสินค้าสำเร็จรูปลดลง 5.24 ล้านบาท  และ วัตถุดิบลดลง 10.03 ล้านบาท โดยระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย ปี 2565 และปี 2564เท่ากับ 45.50  วัน และ 44.17 วัน ตามลำดับ

             – ต้นทุนในการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญาที่ทำกับลูกค้ามีจำนวน 17.10 ล้านบาท ลดลงจำนวน 21.01 ล้านบาท จากการเร่งส่งมอบโครงการช่วงสิ้นปี

             (2) สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนมีจำนวน 1,023.14 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 153.23 ล้านบาท เนื่องจาก

             – ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มีจำนวน 880.73 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 176.04 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาจำนวน 87.66 ล้านบาท  การตั้งสำรองขาดทุนจากการด้อยค่าของแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 135.18 ล้านบาท และบริษัทย่อยมีการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์บางส่วนและซื้อสินทรัพย์เพิ่มรวม 45.95 ล้านบาท สำหรับส่วนของบริษัทมีการซื้อแม่พิมพ์ อุปกรณ์โรงงาน เครื่องมือช่าง การปรับปรุงพื้นที่โรงงานของบริษัท เช่น เทพื้นคอนกรีตลานเก็บสินค้า สร้างห้องน้ำพนักงานเพิ่มเติม เป็นต้น

            – ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มีจำนวน 1,056.78 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 70.65 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาจำนวน 92.42 ล้านบาท ในปี 2564 มีการทบทวนมูลค่าที่ดินของบริษัทตามมูลค่ายุติธรรมโดยผู้ประเมินราคาอิสระทำให้ในปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 12.95 ล้านบาท และบริษัทย่อยมีการซื้อสินทรัพย์เพิ่ม ได้แก่ การติดตั้ง inverter และโกดังจัดเก็บอุปกรณ์ ปรับปรุงถนนที่โรงไฟฟ้า ส่วนของบริษัทมีการซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือช่าง การปรับปรุงพื้นที่โรงงานของบริษัท เช่น เทพื้นคอนกรีตลานเก็บสินค้า สร้างห้องน้ำพนักงานเพิ่มเติม ทำกันสาดและรางน้ำใหม่ เป็นต้น

            – สินทรัพย์สิทธิการใช้ประโยชน์ในสัญญาเช่าระยะยาว มีจำนวน 26.18 ล้านบาท ลดลง 2.63 ล้านบาท

            – สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มีจำนวน 16.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.37 ล้านบาท จากการลงทุนโปรแกรม ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบงาน

           – สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเพิ่มขึ้น 8.16 ล้านบาท รับรู้จากการบันทึกขาดทุนผลขาดทุนทางภาษี

หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น

    (1)  บริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 361.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 47.32 ล้านบาทเนื่องจาก

  • เงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน จำนวน 45.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 1.64 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
  • เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นมีจำนวน 179.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.89 ล้านบาท จากปีก่อน จากเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 45.97 ล้านบาท เจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 2.95 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเพิ่มขึ้น 9.51 ล้านบาท รายได้รับล่วงหน้าและเงินมัดจำรับลดลง 6.54 ล้านบาท
  • หนี้สินที่เกิดจากสัญญา – หมุนเวียน มีจำนวน 15.10 ล้านบาท ลดลง 1.73 ล้านบาท จากปีก่อน
  • หนี้สินตามสัญญาเช่าทั้งในส่วนที่ถึงกำหนด 1 ปี และส่วนที่เกินกำหนด 1 ปี เป็นการรับรู้หนี้สินตามสัญญาเช่าตลอดอายุสัญญา ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลค้างจ่าย มีจำนวน 2.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.20 ล้านบาท จากปีก่อน เกิดจากภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทย่อย
  • ประมาณการหนี้สินสำหรับผลประโยชน์ระยะยาวพนักงานมีจำนวน 64.08 ล้านบาท ลดลง 4.89 ล้านบาท จากการจ่ายชดเชยให้พนักงานเกษียณ และจากการปรับประมาณการหนี้สินในการประเมินใหม่ตามสมมุติฐานปัจจุบัน

              ส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 1,023.11 ล้านบาท ลดลงจำนวน 159.37 ล้านบาท มาจากผลขาดทุนในปี 132.83 ล้านบาท รับรู้ผลกำไรจาการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงาน 4.21 ล้านบาทหักด้วยเงินปันผลของผู้ถือหุ้นบริษัทย่อยที่ไม่มีอำนาจควบคุม 30.75 ล้านบาท

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด

                กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ในปี 2565 มีจำนวน 105. 30 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 จำนวน 49.40 ล้านบาท จากการดำเนินงานและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทย่อยเป็นหลัก

                กระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 63.87 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยมีการลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า บริษัทและบริษัทย่อยมีการลงทุนโปรแกรม ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบงาน

                กระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 43.14 ล้านบาท จากการจ่ายเงินปันผลของบริษัทย่อยให้แก่ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 30.75 ล้านบาท  และการชำระหนี้สินตามสัญญาเช่า 9.77 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 4.26 ล้านบาท

                เงินสดลดลงระหว่างปี 1.71 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทและบริษัทย่อยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด  ณ 31 ธันวาคม 2565 เท่ากับ 2.80 ล้านบาท